รวมเคสประกันบ้านที่เคลมบ่อยๆ ในช่วงหน้าฝน
รวมเคสประกันบ้านที่เคลมบ่อยๆ ในช่วงหน้าฝน / Cr.Allianz Ayudhya
เคสเกี่ยวกับน้ำมีหลักๆ 2 กรณี คือภัยเนื่องจากน้ำ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเป็นภัยจากน้ำที่ไหลจากข้างบนลงข้างล่าง ไม่ว่าจะฝน ท่อประปา โดยบริษัทประกันคุ้มครองตามทุนประกันที่ลูกค้าทำไว้ ส่วนอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ คือภัยจากน้ำที่เอ่อล้นจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ทั้งน้ำที่ไหลออกมาจากทางน้ำธรรมชาติ (แม่น้ำ ลำคลอง) หนุนหรือล้นออกมาจากใต้ดิน รวมถึงทางน้ำที่สร้างขึ้น (ท่อระบายน้ำ) ส่วนนี้บริษัทประกันจะชดใช้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นในวงเงินรวมกัน (กับภัยธรรมชาติอื่นๆ) ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี
การทำกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทุกช่องทาง สิ่งที่ผู้เอาประกันควรให้ความสำคัญ คือ ซื้อทุนประกันภัยให้เหมาะสมกับมูลค่าจริง เพื่อเวลาเคลมจะได้จ่ายเต็มๆ ตรวจสอบความคุ้มครอง ทั้งตัวอาคารและทรัพย์สินภายในบ้าน ว่าครอบคลุมหรือไม่ และควรซื้อกรมธรรม์ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพิ่ม
ประกันภัยบ้านไม่ได้คุ้มครองแค่อัคคีภัยอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่คุ้มครองไปถึงฝนตก น้ำท่วม และภัยอื่นๆ ด้วย ในวงเงินที่ต่างกันไป แต่ไม่ใช่ทุกเคสที่เคลมได้นะ ไปดูกันว่าประกันบ้านคุ้มครองอะไร และเคสแบบไหน ที่ประกันจ่ายบ้าง
ประกันภัยบ้านคุ้มครองฝนตก น้ำท่วม
เวลาเราซื้อ ‘ประกันภัยบ้าน’ หรือชื่อเรียกเต็มๆ ว่า ‘ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย’ เรามักเข้าใจว่าเคลมได้เฉพาะไฟไหม้หรืออัคคีภัยตามชื่อเรียก แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามีความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยอย่างอื่นด้วย ทั้งไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะ (Vehicle impact) ภัยจากอากาศยาน วัตถุที่ตกจากอากาศยาน รวมถึงภัยเนื่องจากน้ำ และอุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ท่อน้ำสาธารณะแตก น้ำป่า โคลนถล่ม คลื่นใต้น้ำ ลม พายุ แผ่นดินไหว ลูกเห็บ
แต่รู้แล้วก็ยังสงสัยอยู่ดีว่าเคสแบบไหนเคลมได้ เคลมไม่ได้ ต้องเคลียร์ให้เข้าใจก่อนว่า คำว่า ฝนตก น้ำท่วม ตามนิยามของการประกันภัย ให้ความคุ้มครองต่างกัน ดังนี้ ภัยเนื่องจากน้ำ เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ การปล่อยให้รั่วไหลของน้ำจากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำความร้อน-เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่ไหลเข้าไปภายในอาคารจากความเสียหายของวัสดุในอาคาร เช่น หลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบ ช่องลม ท่อน้ำ รางน้ำ ที่รั่วซึม หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเป็นภัยจากน้ำที่ไหลจากข้างบนลงข้างล่าง ตามนิยามข้างต้น โดยบริษัทประกันคุ้มครองตามทุนประกันที่ลูกค้าทำไว้
อุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ คือภัยจากน้ำที่เอ่อล้นจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ทั้งน้ำที่ไหลออกมาจากทางน้ำธรรมชาติ (แม่น้ำ ลำคลอง) หนุนหรือล้นออกมาจากใต้ดิน รวมถึงทางน้ำที่สร้างขึ้น (ท่อระบายน้ำ) เช่น น้ำท่วม ท่อน้ำสาธารณะแตก น้ำป่า โคลนถล่ม คลื่นใต้น้ำ ลม พายุ แผ่นดินไหว ลูกเห็บ โดยส่วนนี้บริษัทประกันจะชดใช้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นในวงเงินรวมกัน (กับภัยธรรมชาติอื่นๆ) ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี*
*การจำกัดจำนวนความรับผิดชอบ (limit of liability) ความรับผิดชอบสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในการชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งนี้ บริษัทประกันมีการกำหนด ความรับผิดส่วนแรก (deductible) ไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ เมื่อเกิดการเคลม ผู้เอาประกันภัยจะมีส่วนรับผิดหรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนในบางส่วน ซึ่งเราสามารถเลือกจำนวนเงินความรับผิดส่วนแรกนี้ได้
เคสเปียกแบบไหน ประกันบ้านจ่ายให้ ยกเคสมาเคลียร์เรื่องเคลมประกันบ้านช่วงหน้าฝน ให้เห็นความแตกต่างชัดๆ ว่าแบบไหนเป็นภัยเนื่องจากน้ำ แบบไหนเป็นอุทกภัย กันแน่ ตัวอย่างเคสที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด ที่เมื่อเกิดเหตุเกี่ยวกับน้ำ ผู้เอาประกันภัยมักแจ้งว่า “น้ำท่วมห้อง” แต่เมื่อบริษัทประกันภัยพิจารณา ก็ต้องดูว่าสาเหตุที่แท้จริงไปเข้านิยามของภัยประเภทไหน ซึ่งส่งผลให้การเคลมแตกต่างกัน
Q: ฝนตก น้ำสาดหรือรั่วเข้ามาทางบริเวณวงกบ ขอบซีล ประตู หน้าต่าง น้ำซึมท่วมพื้นห้อง เคลมได้ไหม?
A: เคลมได้ ในเงื่อนไข ภัยเนื่องจากน้ำ ตามความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สิน ในเคสนี้คือพื้นห้อง แต่ไม่จ่ายค่าซ่อมวงกบหรือขอบซีล ของประตู หน้าต่าง หมายความว่าประกันไม่จ่ายค่าซ่อมจุดที่เป็นต้นเหตุ เพราะเกิดจากการเสื่อมสภาพ แต่จะจ่ายเฉพาะผลที่ตามมาหรือสิ่งที่เสียหายจากน้ำ
Q: ท่อน้ำรั่ว ท่วมห้อง เคลมได้ไหม?
A: เคลมได้ ตามความเสียหาย ในเงื่อนไขภัยเนื่องจากน้ำ ร่วมกับประกันกลางของนิติบุคคล
เนื่องจากคอนโดทุกแห่งมีกฎหมายบังคับให้ทำประกันกลางไว้อยู่แล้ว ถ้าผู้เอาประกันภัยมีกรมธรรม์สองฉบับ (ทั้งประกันกลางของนิติบุคคลและประกันภัยบ้านที่ซื้อเพิ่มเติม) ซึ่งให้ความคุ้มครองทรัพย์สินเดียวกัน ทั้งสองกรมธรรม์จะต้องเข้ามาเฉลี่ยกันจ่ายชดใช้ตามวิธีการ โดยผู้เอาประกันจะได้ความคุ้มครองตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
หากเป็นเคสที่มีเพียงประกันภัยบ้านอย่างเดียว และไม่ได้เพิ่มการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเอาไว้ในกรมธรรม์ ประกันจะคุ้มครองเฉพาะบ้านเรา ไม่คุ้มครองบ้านอื่น
หากต้นเหตุเกิดความประมาทของบ้านอื่น และบ้านเราได้รับความเสียหาย เราสามารถเคลมประกันของเราได้ ตามภัยที่ระบุไว้ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยบ้าน
Q: ฝนตกหนักมาก น้ำท่วมชั้นใต้ดินของคอนโด เอ่อล้นจากข้างล่างขึ้นมาตามท่อระบายน้ำ ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย
A: เคลมได้ ในเงื่อนไขอุทกภัย/ภัยธรรมชาติ แต่การคุ้มครองจำกัด (รวมกับภัยธรรมชาติอื่นๆ) ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี
ตัวอย่างเคสที่อยู่อาศัยประเภทบ้าน
Q: ฝนตก หลังคารั่ว ทำพื้นบ้านเสียหาย เครื่องใช้ไฟฟ้าพัง
A: เคลมได้ ในเงื่อนไขภัยเนื่องจากน้ำ ซ่อมพื้นบ้านให้ เพราะเป็นสิ่งที่เสียหายจากน้ำ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดการลัดวงจรจากฟ้าผ่า แต่ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ระบุในทรัพย์สินที่เอาประภัยภัย จะไม่สามารถเคลมได้ เพราะไม่ได้รับความคุ้มครอง
Q: ฟ้าผ่า เครื่องใช้ไฟฟ้าพัง
A: เคลมได้ ในเงื่อนไข ภัยจากฟ้าผ่า/ภัยธรรมชาติ แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมีความอ่อนไหวต่อฟ้าผ่า และได้รับความเสียหายจากฟ้าผ่าจริง
และโดยทั่วไป ประกันภัยบ้านจะให้ความคุ้มครองเฉพาะส่วนที่เป็น สิ่งปลูกสร้าง* ไม่รวมฐานราก (โครงสร้างของบ้านที่อยู่ใต้ดิน สามารถซื้อเพิ่มความคุ้มครองส่วนฐานรากได้) และทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
*สิ่งปลูกสร้าง คือ ตัวอาคาร บ้าน คอนโด กำแพง รั้ว ประตู ศาลพระภูมิรวมถึงสิ่งที่ต่อเติมอื่นๆ โรงจอดรถ ครัวเปิดโล่ง พื้นที่ส่วนกลางคอนโด ศาลานั่งเล่น
เลือกซื้อประกันภัยบ้านแบบไหนดี ?
การทำกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทุกช่องทาง สิ่งที่ผู้เอาประกันควรให้ความสำคัญ มีดังนี้
1.ทุนประกันภัย จัดให้เพียงพอ เพื่อเวลาเคลมจะได้จ่ายเต็มๆ
ทุนประกันภัยที่อยู่อาศัย พิจารณาจากมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง ไม่รวมรากฐาน (ต้องแยกราคาของที่ดินออกมา เพราะเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไม่ได้) และมูลค่าของทรัพย์สินภายในบ้าน และเพื่อประโยชน์สูงสุด ควรทำประกันภัยบ้านให้ครอบคลุมมูลค่าจริงของบ้านและทรัพย์สิน ไม่ควรทำเกินมูลค่า หรือ ต่ำกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นมา การชดใช้ค่าเสียหายจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
2.ตรวจสอบความคุ้มครอง ทั้งตัวอาคารและทรัพย์สินภายในบ้าน
เวลาทำประกันภัย อย่าทำแค่ตัวบ้าน ควรตรวจสอบความคุ้มครองทรัพย์สินในบ้านด้วย เพราะหลายครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยต่างๆ ตัวบ้านเสียหายน้อย แต่ทรัพย์สินในบ้านมีมูลค่าสูง ถ้าไม่มีส่วนนี้ ควรเลือกซื้อแบบเพิ่มเติมที่ครอบคลุมทรัพย์สินภายในบ้าน และควรพิจารณาด้วยว่ามีส่วนที่ทับซ้อนหรือต้องเสียเกินกว่าที่ควรจะเสียหรือไม่ เช่น กรมธรรม์คอนโดประมาณ 80% มักขยายความคุ้มครองเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ภายในห้องชุดอยู่แล้ว ถ้าเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องของเรามีมูลค่าไม่ถึงจำนวนที่กรมธรรม์คอนโดขยายไว้ เราก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม
3.ควรซื้อกรมธรรม์ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพิ่ม เพราะสิ่งที่น่ากังวลคือการทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย ไม่ใช่แค่ตัวเราเองเท่านั้น และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ค่าเบี้ยที่จ่ายเพิ่มในส่วนนี้ ถือว่าคุ้มค่าและครอบคลุมกว่ามาก