รถที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี 5 ปี ต้องเข้า ตรอ.ก่อนต่อภาษีประจำปี

รู้หรือไม่? รถที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี ต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถก่อนต่อภาษีประจำปี เเต่จะให้ไปรอคิวตรวจที่สำนักงานขนส่งก็คงไม่สะดวก สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ช่วยคุณได้ 

สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) คือ สถานที่ตรวจสอบสภาพรถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกซึ่งเปิดให้บริการทั่วประเทศ มีหน้าที่ให้บริการตรวจสอบสภาพรถที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปี และ 7 ปี ตามประเภทรถ เเละออกใบรับรองการตรวจสภาพรถให้กับเจ้าของรถเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการยื่นต่อทะเบียนหรือเสียภาษีรถ

ตรอ. คืออะไร ?

    ตรอ. ย่อมาจาก “สถานตรวจสภาพรถเอกชน” หรือสถานที่ตรวจสอบสภาพรถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่เปิดให้บริการทั่วประเทศ มีการดำเนินงานตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัดและได้รับใบอนุญาตจัดตั้งจากกรมการขนส่งทางบก

ตรอ. มีหน้าที่ให้บริการตรวจสภาพรถยนต์เเละรถจักรยานยนต์ตามหลักเกณฑ์ที่กรมการขนส่งกำหนด ส่งข้อมูลเข้าระบบของกรมการขนส่งทางบก เเละพิมพ์ใบรายงานผลการตรวจสภาพรถให้กับเจ้าของรถเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการต่อทะเบียนหรือชำระภาษีรถโดยไม่ต้องไปรอตรวจสภาพรถที่กรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่ง

รถยนต์อายุกี่ปี? ถึงต้องตรวจสภาพ

    รถที่สามารถเข้ารับการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) คือ รถที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปี และ 7 ปี ตามประเภทรถที่กำหนด นับแต่วันที่จัดทะเบียนครั้งแรก ได้แก่ 

    • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีอายุใช้งานครบ 7 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนครั้งแรก
    • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน มีอายุใช้งานครบ 7 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนครั้งแรก
    • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม นับจากวันที่จดทะเบียนครั้งแรก
    • รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล มีอายุใช้งานครบ 5 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนครั้งแรก

ตรวจสภาพรถยนต์ 7 ปี นับอย่างไร ?

รถที่ต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) คือ รถที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี (รถยนต์) หรือ 5 ปี (รถมอเตอร์ไซค์) โดยนับตั้งเเต่วันที่จดทะเบียนรถครั้งแรก และสามารถเข้ารับการตรวจสภาพได้ล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือนก่อนถึงวันครบกำหนดวันเสียภาษีประจำปี หรือวันสุดท้ายของงวดภาษี 

ตัวอย่างการนับวันจดทะเบียนรถเพื่อเตรียมเข้ารับการตรวจสภาพรถ เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียนเมื่อ ปี 2557 มีวันสิ้นอายุภาษีประจำปีในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 รถคันดังกล่าวจะสามารถเข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

ตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ใช้อะไรบ้าง ?

    เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ได้แก่ ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถ (สมุดทะเบียนรถ) เเละตัวรถที่ต้องการตรวจสภาพ กรณีรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต้องเตรียมเอกสารรับรองการติดตั้งก๊าซรถยนต์ที่เรียกว่า “หนังสือรับรองการตรวจและทดสอบส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์” ไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ตรอ. จะไม่รับตรวจสภาพรถในกรณีที่พบว่าแผ่นป้ายทะเบียนชำรุด หรือสูญหาย, หมายเลขเครื่องยนต์/ตัวรถ/โครงคัสซี (Chassis) หรือตัวเฟรม มีร่องรอยขูดขีดแก้ไข หรือมีการเปลี่ยนแปลงสี/ตัวรถที่ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ในสมุดทะเบียนรถ โดยเจ้าของรถต้องนำรถไปตรวจสภาพที่สำนักงานขนส่ง เพื่อขอชำระภาษีและดำเนินการเรื่องทะเบียนให้เรียบร้อย

ตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ราคากี่บาท ?

    การตรวจสภาพรถ ตรอ. จะใช้ราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ มีรายละเอียดดังนี้
    • รถยนต์ที่มีขนาดน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 200 บาท
    • รถยนต์ที่มีขนาดน้ำหนักรถเปล่าเกิน 2,000 กิโลกรัม คันละ 300 บาท
    • รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท

หากตรวจสภาพรถไม่ผ่านในครั้งแรก และนำรถมาตรวจสภาพรถใหม่ภายใน 15 วัน จะเสียค่าบริการครึ่งหนึ่งของราคาปกติ เเต่หากนำมาตรวจใหม่หลัง 15 วัน จะต้องเสียค่าบริการตรวจสภาพรถใหม่ทั้งหมด 

ตรอ. ตรวจอะไรบ้าง ?

การตรวจสภาพรถ ตรอ. เเต่ละครั้งจะเริ่มตรวจตั้งเเต่ข้อมูลความถูกต้องของตัวรถตามข้อมูลที่จดทะเบียนไว้ในสมุดทะเบียนรถ จากนั้นก็จะตรวจสภาพทั้งภายใน ภายนอก และใต้ท้องรถโดยมีรายละเอียดดังนี้

1) การตรวจภายในรถ
- ระบบบังคับเลี้ยว, พวงมาลัย
- มาตรวัด, ไฟสัญญาณ
- สวิตช์ควบคุมไฟสัญญาณ, แตรสัญญาณ
- อุปกรณ์ปัดเเละฉีดทำความสะอาดกระจกกันลมหน้า
- กระจกกันลมหน้า-หลัง
- ที่นั่งผู้ขับ, ที่นั่งผู้โดยสาร
- เข็มขัดนิรภัย

2) การตรวจภายนอกรถ
- โคมไฟพุ่งไกล, โคมไฟพุ่งต่ำ
- โคมไฟเลี้ยว
- โคมไฟหรี่, และอื่นๆ
- กันชน
- กงล้อ และยาง
- บังโคลน
- โครงสร้างเเละตัวถัง
- สี
- ประตู
- กระจกด้านข้าง
- กระจกเงาสำหรับมองหลัง
- โคมไฟท้าย
- โคมไฟหยุด
- อุปกรณ์สะท้อนแสง
- โคมไฟถอยหลัง
- โคมไฟส่องป้ายทะเบียน
- โคมไฟแสดงความกว้าง, ความสูง, ไฟอื่นๆ
- กันชนท้าย

3) การตรวจใต้ท้องรถ
- ระบบบังคับเลี้ยว, กลไลบังคับเลี้ยว
- ระบบรองรับน้ำหนัก, สปริง, แหนบ, โช้คอัพ
- เพลาล้อ, กงล้อและยาง
- อุปกรณ์ระบบห้ามล้อ
- โครงสร้างตัวถัง, โครงคัสซี
- ระบบส่งกำลัง, คลัตช์, เกียร์ เพลากลาง, เฟืองท้าย
- ระบบไอเสีย, เครื่องระงับเสียง
- แท่นเครื่อง, ยางแท่นเครื่อง
- อุปกรณ์ขจัดมลพิษ (Catalytic Converter)
- ระบบเชื้อเพลิง, ท่อส่งเชื้อเพลิง, ท่อส่งก๊าซ

*Cr.ข้อมูลดีๆจาก SMK

Visitors: 91,194